สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ใช้ชื่อบุคคลอื่นเช่าซื้อรถยนต์แทน หากผู้มีชื่อมาเอารถยนต์ไปเป็นความผิดฐานใด

ปัจจุบันการทำสัญญาเช่าซื้อนั้นจะต้องอาศัยประวัติทางด้านการเงินของผู้เช่าซื้อรถยนต์ด้วย หากปรากฏว่าผู้เช่าซื้อรถยนต์มีประวัติทางด้านการเงินไม่ดี ทางบริษัทหรือธนาคารอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้เช่าซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้แล้ว ผู้เช่าซื้อจะไปหาบุคคลอื่นที่มีประวัติการทางด้านการเงินที่ดินหรือผ่อนชำระหนี้ไม่เคยผิดนัดมาเป็นผู้เช่าซื้อแทน ทำให้การทำสัญญาเช่าซื้อไม่ตรงตามความเป็นจริง กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไม่ได้เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริง แต่ผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงตัวแทนของผู้เช่าซื้อที่แท้จริงเท่านั้น ตามกฎหมายแล้วเรียกว่า ตัวแทนไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งตัวการหรือผู้เช่าซื้อที่แท้จริงเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อและเป็นผู้ครอบครองเพื่อใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ ต่อมาเมื่อผู้เช่าซื้อที่แท้จริงผิดนัดไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อที่มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงถูกทวงถามจากบริษัทหรือธนาคารที่เช่าซื้อหรือให้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน ผู้เช่าซื้อจึงไปเอารถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง จึงเกิดปัญหาว่า การกระทำของผู้เช่าซื้อตามสัญญาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
            ตอบ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว

            ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562
สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (เดิม) จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า นางวัชรา ผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะหมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ก 0571 ตราด จากบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ โดยผู้เสียหายที่ 2 จะต้องให้จำเลยกู้ยืมเงินเป็นการตอบแทน แต่ผู้เสียหายที่ 2 ให้จำเลยกู้ยืมเงินไม่ครบถ้วนตามข้อตกลง ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปเอากุญแจรถกระบะจากมือของผู้เสียหายที่ 2 แล้วขับรถกระบะคันดังกล่าวไปโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้การเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตายสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลง และไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาทก็ตาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 บัญญัติว่า "อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขให้ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว" แสดงว่า สัญญาเช่าซื้อจึงไม่ใช่สัญญาเช่าทรัพย์ธรรมดา แต่มีคำมั่นว่าจะขายทรัพย์โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินกันเป็นครั้งคราวรวมอยู่ด้วย ถ้าผู้เช่าซื้อชำระเงินแก่ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามเงื่อนไขก็จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เพียงแต่การที่ผู้ให้เช่าซื้อจะให้บุคคลใดเช่าซื้อหรือไม่อาจพิจารณาคุณสมบัติของผู้เช่าซื้อว่ามีความสามารถที่จะชำระเงินให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ โดยไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้เช่าซื้อว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าซื้อหรือไม่ดังเช่นสัญญาเช่าทรัพย์ สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามตัวการมอบหมายหรือเชิดบุคคลอื่นเป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าซื้อแทนตัวการ ตัวการจึงอาจมอบหมายหรือเชิดบุคคลอื่นที่มีความสามารถจะชำระเงินให้แก่ผู้เช่าซื้อตามเงื่อนไขที่ผู้ให้เช่าซื้อกำหนดเป็นตัวแทนทำเช่าซื้อแทนตนเองได้ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินดาวน์แล้ว รับมอบการครอบครองรถที่เช่าซื้อและผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 โดยผู้เสียหายที่ 2 เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ หาใช่ว่านิติสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยไม่ใช่เรื่องตัวการตัวแทนดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่อย่างใดไม่ แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 แล้วมอบรถที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ไปแล้ว ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ ส่วนจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งตกลงจะให้จำเลยกู้ยืมเงินเพื่อตอบแทนที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถแทนผู้เสียหายที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงกับจำเลยให้ครบถ้วน ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะเอารถที่เช่าซื้อคืนจากผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริษัทโตโยต้าตราด ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด และเมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็หาทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่สำเร็จแล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบภายในของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถแทนผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะให้จำเลยกู้ยืมเงินเป็นการตอบแทน แล้วผู้เสียหายที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงให้ครบถ้วน เป็นเหตุให้จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 ถือว่า ผู้เสียหายที่ 2 มีส่วนผิดด้วย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง ประกอบกับหลังเกิดเหตุ จำเลยขับรถกระบะไปที่บริษัทโตโยต้าตราด ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด เพื่อจะส่งมอบรถคันดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ผู้เสียหายที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยก่อน ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่าการลงโทษจำคุกจำเลยและรอการลงโทษไว้ แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (เดิม) ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่